กิจกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น



เศรษฐกิจไทย

กิจกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

 

จับตาทิศทางการเมืองในประเทศ หลังไทม์ไลน์การเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ได้มีการแจ้งไทม์ไลน์เบื้องต้นกำหนดการยุบสภาในช่วงต้นเดือนมีนาคมหรือภายในวันที่ 15 มีนาคม  ส่วนกำหนดวันเลือกตั้งอาจเป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศไว้เป็นวันที่ 7 พฤษภาคม ประกาศผลการเลือกตั้งเสร็จสิ้นในช่วงต้นเดือนกรกฏาคม และเข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ (ดังตาราง) จนไปสู่การได้รัฐบาลใหม่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม

 

หมายกำหนดการเลือกตั้งที่มีความชัดเจนขึ้น หลังจากนายกฯระบุแน่ชัดว่าจะยุบสภาก่อนครบวาระในวันที่ 23 มีนาคมและจะเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม ทั้งนี้ คาดว่ากิจกรรมตั้งแต่การหาเสียงจนถึงการเลือกตั้งจะช่วยหนุนให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น จาก (i) งบประมาณจัดเลือกตั้งของกกต.ในปีนี้ได้รับจัดสรรอยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท เทียบกับ 4.2 พันล้านบาทในการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2562 เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีจำนวนเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 400 เขต จาก 350 เขต (ii) กรณียุบสภา กกต.กำหนดงบประมาณในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนละไม่เกิน 1.9 ล้านบาท และพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคละ 44 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ไทม์ไลน์การเลือกตั้งมีความชัดเจนขึ้น แต่ยังต้องติดตามระยะเวลาเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล หากเกิดความล่าช้าจนส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 (เริ่มเบิกจ่ายเดือนตุลาคม 2566) อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้


การลงทุนจากต่างประเทศยังไม่สดใสมากนักในเดือนแรกของปี กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในเดือนมกราคม 2566 จำนวน 52 ราย เงินลงทุนรวม 5,129 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 298 คน โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น (14 ราย เงินลงทุน 3,588 ล้านบาท) สิงคโปร์ (6 ราย, 410 ล้านบาท) สหรัฐ (6 ราย, 9 ล้านบาท) สหราชอาณาจักร (5 ราย, 98 ล้านบาท) และจีน (3 ราย, 548 ล้านบาท)  ทั้งนี้ หาก
จำแนกเป็นการลงทุนในพื้นที่
EEC มีจำนวน 8 ราย (15% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด) เงินลงทุนรวม 683 ล้านบาท (13% ของเงินลงทุนทั้งหมด) นำโดย ญี่ปุ่น (5 ราย เงินลงทุน 632 ล้านบาท) จีน (2 ราย, 48 ล้านบาท) และสหราชอาณาจักร (1 ราย, 3 ล้านบาท)

 

แม้จำนวนการลงทุนจากต่างประเทศในเดือนมกราคม 2566 ที่ 52 ราย สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ 49 ราย แต่หากพิจารณาทางด้านวงเงินลงทุนซึ่งมีมูลค่า 5,129  ล้านบาท ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ 9,767 ล้านบาท ในเดือนเดียวกันปีก่อน และ 16,308 ในเดือนธันวาคม 2565 อย่างไรก็ตาม การลงทุนจากต่างประเทศของไทยยังพอมีสัญญาณเชิงบวกจากยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 2565 ที่มีมูลค่า 433,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อน (และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2564 ที่ประมาณ 350,000 ล้านบาทต่อปี) นำโดยจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ สะท้อนแนวโน้มการลงทุนในระยะข้างหน้าโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พลังงานสะอาด และดิจิทัล


 


 

เศรษฐกิจโลก

กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศสำคัญปรับดีขึ้นในช่วงต้นปี แต่การเติบโตในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มอ่อนแอ

 

 

สหรัฐฯ

ตลาดคาดเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยแรงหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐปรับดีขึ้นและเงินเฟ้อยังสูง แต่ภาพรวมการเติบโตมีแนวโน้มชะลอลง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 50.2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือนแม้ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต สำหรับการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ 1.8% MoM แรงหนุนจากค่าจ้างและเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ส่วนเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE Price Index) เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.4% YoY จาก 5.3% ในเดือนธันวาคม  

เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจล่าสุดเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งสู่ระดับ 5.25-5.50% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยชั่วคราว เช่น อากาศที่อบอุ่นขึ้น ขณะที่เครื่องชี้หลายตัวยังสะท้อนความอ่อนแอของการเติบโต เช่น GDP ไตรมาส 4 โต 2.7% ต่ำกว่ารายงานครั้งก่อนที่ 2.9% เมื่อหักสินค้าคงคลังและการค้าระหว่างประเทศแล้ว อุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% และ GDP ไตรมาสแรกปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่า 2% ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตแม้กระเตื้องขึ้นสู่ระดับ 47.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 4 ซึ่งชี้ว่าภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่อง อีกทั้งดัชนีย่อยด้านคำสั่งซื้อใหม่ยังปรับลดลง นอกจากนี้ ดัชนีเวลาขนส่งวัตถุดิบลดลงมากสุดตั้งแต่กลางปี 2552 และดัชนีราคาวัตถุดิบก็ปรับลดลง ซึ่งอาจช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไป

 



ยูโรโซน

แม้ยูโรโซนจะเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาได้ แต่หนทางข้างหน้ายังคงยากลำบาก ในเดือนมกราคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 8.6% YoY ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ 10.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 5.3% YoY ในส่วนของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมปรับเพิ่มขึ้นสู่ 52.3 ซึ่งอยู่ในโซนขยายตัว (มากกว่า 50) ติดต่อกันเป็นเดือนที่สองจากแรงหนุนของกิจกรรมภาคการบริการที่ขยายตัวมากที่สุดในรอบ 7 เดือน อยู่ที่ 53.0 อย่างไรก็ตาม กิจกรรมภาคการผลิตอยู่ในโซนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยชะลอลงสู่ 48.5 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าแม้เศรษฐกิจยูโรโซนจะสามารถรอดพ้นจากภาวะถดถอย (recession) ในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาได้ แต่ตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ใน 4Q65 ยังคงบ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัวและมีความเปราะบางสูง อาทิ (i) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ต่ำสุดนับตั้งแต่ 3Q61 ที่ 1.83% YoY และ (ii) ยอดค้าปลีกหดตัว 2.93% YoY ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อฝั่งภาคบริการที่ยังคงเร่งตัวขึ้นซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานลงช้า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จึงต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนตลอดปี 2566 สะท้อนผ่านปริมาณความต้องการสินเชื่อเพื่อการบริโภคและการลงทุนที่ลดลงใน 4Q65 นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นหลังประเทศสมาชิกกลุ่มG20 หารือเพื่อเตรียมยกระดับมาตรการสนับสนุนยูเครนและจำกัดความสามารถของรัสเซียในการทำสงครามมากขึ้นในวาระครบรอบ 1 ปีสงครามในยูเครน



 


จีน

ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงทรงตัว ความเสี่ยงทางการเงินยังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ ในขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจ ราคาบ้านมือหนึ่งใน 70 เมืองสำคัญในเดือนมกราคมเริ่มทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือน
ก่อนหน้า (
MoM) แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ยังคงหดตัวอยู่ที่ 2.26% ส่วนราคาบ้านมือสองยังหดตัวที่ 0.28% MoM และ 3.76% YoY ในขณะที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่ใหญ่ที่สุด 100 อันดับแรกยังมียอดขายหดตัวที่ 33% YoY ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงเดินหน้าฟื้นฟูภาคอสังหาฯ โดยล่าสุด ได้ประกาศโครงการนำร่องที่อนุญาตให้จัดตั้ง private equity fund เพื่อลงทุนในภาคอสังหาฯ สำหรับฐานะการคลังของจีนในปีที่ผ่านมา หนี้สินของรัฐบาลต่อ GDP ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ถือว่าไม่สูงมากนัก โดยอยู่ที่ 50.4% ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับสหรัฐซึ่งอยู่ที่ 123.4%

 

อย่างไรก็ตาม การเมืองระหว่างประเทศยังคงมีความไม่แน่นอน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายหวังอี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกลางด้านการต่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เดินทางเยือนรัสเซีย และประกาศย้ำถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองชาติ แต่ไม่กล่าวถึง “การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ไร้ขอบเขต” ซึ่งประกาศขึ้นไม่กี่สัปดาห์ก่อนการรุกรานยูเครน ในขณะเดียวกัน ยังมีรายงานว่า จีนพยายามผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพแบบพหุภาคี และสีจิ้นผิงจะเดินทางเยือนรัสเซียในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนยังออกมาระบุให้ ”บางประเทศ” หยุดสร้างกระแส today Ukraine, tomorrow Taiwan ในขณะที่ สหรัฐประกาศแผนที่จะขยายกองทหารในไต้หวันเป็นจำนวนราว 100 ถึง 200 กอง จากเดิม 30 กอง เพื่อให้การฝึกฝนแก่ทหารไต้หวัน

 

วิจัยกรุงศรีมองว่าราคาและยอดขายบ้านจะหดตัวน้อยลงในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นอุปสงค์และผ่อนคลายสภาพคล่องที่ดำเนินมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ประกอบกับการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน ส่วนเสถียรภาพทางการเงินยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แม้มีความเสี่ยงจากหนี้สินของธุรกิจนอกภาคการเงินที่สูง (160.9% ต่อ GDP) โดยรัฐบาลกลางยังมีความสามารถที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงบรรเทาภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นจากการที่ตลาดอสังหาฯ ยังคงหดตัวอยู่ ทั้งนี้ ท่าทีของจีนในประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจสะท้อนถึงความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับชาติยุโรป ในขณะที่ ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ยังคงย่ำแย่อยู่ และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อทิศทางของเศรษฐกิจจีนและโลก

 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จี๊ป ประเทศไทย เอาใจสาวกรถยนต์พันธุ์แกร่ง จัดกิจกรรม ‘JOC MEET: OUT OF TOWN TO PETCHABURI’ ขับ จี๊ป เที่ยวสุดหรรษา พร้อมสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อม

เมืองไทยประกันชีวิต ส่งมอบความสุขและรอยยิ้ม พาคณะผู้สูงอายุจากเขตห้วยขวาง และโรงเรียนผู้สูงอายุเขตดินแดง เข้าร่วมชมงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIA

เมืองไทยประกันชีวิต ส่งมอบความสุขและรอยยิ้ม พาคณะผู้สูงอายุจากเขตห้วยขวาง และโรงเรียนผู้สูงอายุเขตดินแดง เข้าร่วมชมงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM