กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.85-34.50 จับสัญญาณกนง.และข้อมูลสหรัฐฯ
กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.85-34.50 จับสัญญาณกนง.และข้อมูลสหรัฐฯ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.85-34.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.12 ต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.03-34.60 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bp สู่ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดรอบ 22 ปี และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 11 ในวัฎจักรนี้ โดยเฟดให้เหตุผลว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงและแถลงการณ์ของเฟดเปิดทางเลือกสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ดี ประธานเฟดกล่าวว่าจะตัดสินใจทีละรอบประชุมขึ้นอยู่กับข้อมูลต่างๆและเจ้าหน้าที่เฟดได้ปรับลดการคาดการณ์เกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ ทางด้านธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 25bp เป็น 3.75% สูงสุดในรอบ 23 ปีแต่ส่งสัญญาณว่าอาจจะหยุดพักการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)คงดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น(JGB)ประเภท 10 ปีไว้ที่ราว 0% โดยเปิดโอกาสให้อัตราผลตอบแทน JGB อายุ 10 ปีเคลื่อนไหวได้ในช่วง -0.5% จนถึง 0.5% ตามเดิม แต่ประกาศว่ากรอบดังกล่าวเป็น “ระดับอ้างอิง” แทน “กรอบเข้มงวด” ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 4,285 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 321 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า ตลาดจะติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี ISM ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค. นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)จะขึ้นดอกเบี้ย 25bp เป็น 5.25% ทางด้านเงินเยนอาจปรับตัวผันผวนต่อเนื่องตาม JGB หลังบีโอเจกล่าวว่าจะเสนอซื้อ JGB อายุ 10 ปีที่อัตราผลตอบแทน 1.0% แทนระดับ 0.5% บ่งชี้ว่าบีโอเจจะเปิดโอกาสให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้นสู่ระดับไม่เกิน 1.0% โดยบีโอเจเพิ่มความยืดหยุ่นต่อนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve control) ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อญี่ปุ่นพุ่งขึ้นในปีนี้
สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bp เป็น 2.25% ในการประชุมวันที่ 2 ส.ค. โดยนักลงทุนจะจับตาการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายในระยะถัดไป นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับสถานการณ์การเมือง และการเปิดเผยยอดดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนมิ.ย.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น